
การใช้เป้สะพายหลังขณะเดินป่า
การใช้เป้สะพายหลังขณะเดินป่า
การใช้เป้สะพายหลังขณะเดินป่า เป้สะพายหลังที่สะพายต่ำกว่าไหล่ หากต้องสะพายของหนักเกิน 1-2 กิโลกรัม เดินไปนานๆ จะเริ่มกดไหล่ทำให้เมื่อยไหล่ การรัดสายคาดเอวแล้วผ่อนสายสะพายไหล่ให้เป้หย่อนไปข้างหลังจะช่วยบรรเทาความหนักได้บ้าง
วิธีป้องกันเป้กดไหล่ คือใช้เป้โครงที่มี load lifter สูงกว่าไหล่ หรืออย่างน้อยที่สุด ควรอยู่ระดับเดียวกับไหล่ โดยคาดสายคาดเอวให้ต่ำที่สุดให้ยันกับตะโพกไว้ เพราะเวลาเดินไปเรื่อยๆ น้ำหนักของเป้ จะดึงสายคาดเอว ให้เลื่อนลงมาอยู่ในระดับนี้ เมื่อรัดสายคาดเอวแล้ว จึงดูระดับ load lifter ไม่ให้ต่ำกว่าไหล่ แล้วดึงสาย load lifter ให้ตึง สายเส้นนี้จะทำหน้าที่รับน้ำหนักแทนสายสะพายไหล่ ช่วยให้น้ำหนักของเป้ไปกดที่หน้าอกแทน สังเกตว่าไหล่จะไม่ต้องรับน้ำหนักเลย
ความสูงของเป้สะพายหลัง จึงควรสูงกว่าไหล่แต่ต้องสามารถเงยคอขึ้นได้พอสมควร เพราะเวลาคลานขึ้นเขา จำเป็นต้องเงยหน้าขึ้นดูทาง เมื่อเงยคอขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว เป้ควรมีที่รองคอด้วย เพื่อป้องกันในกรณีล้มหงายหลัง ทำให้หัวกระแทกก้อนหิน หรือ คอหัก เป้ที่มีขนาดเหมาะสมกับตัว load lifter จะทำมุม 45 องศากับพื้น คือ สูงประมาณท้ายทอย(ระดับที่กะโหลกศีรษะต่อกับคอ) ถ้าน้อยกว่านี้แสดงว่าเป้เตี้ยเกินไป ถ้ามากกว่านี้แสดงว่าเป้สูงเกินไป เป้ขนาดใหญ่ๆ สามารถใส่ของน้อยๆได้ ใส่ของมากก็ได้ ไม่เหมือนเป้ขนาดเล็ก ใส่ของได้จำกัด และเป้ใบใหญ่ๆ สามารถที่จะใส่ของเข้าไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลา กดให้แน่นเหมือนเป้ใบเล็กที่มีพื้นที่จำกัด
ลักษณะของเป้สะพายหลังที่ดี ไม่ว่าจะเป็นใบเล็กหรือใบใหญ่
• ควรจะมีจุดสัมผัสกับหลังน้อยที่สุด เพื่อที่จะระบายอากาศได้มากที่สุด เนื่องจากเวลาเดินป่าในที่อากาศร้อนๆ เช่น ตามน้ำตกซึ่งมักจะอยู่แถบพื้นราบ ส่วนที่สัมผัสกับหลังจะยิ่งทำให้ร้อนขึ้นไปอีก
• ควรมีสายรัดเอวขนาดใหญ่ จะช่วยให้จับกับเอวได้มั่นคงกว่า โดยไม่เกิดการเสียดสีเหมือนสายขนาดเล็ก สายคาดเอวเล็กๆ เหมาะสำหรับแบกของเบาๆ แบบไปเช้าเย็นกลับ
• ไม่ควรจะมีกระเป๋าด้านข้างยื่นออกมา แต่ควรจะใช้แบบรูดซิปเหมือนกระเป๋ากางเกง ล้วงเข้าไปในเป้ เพื่อให้เหลือที่ว่างด้านข้างสำหรับใส่เต็นท์, แผ่นรองนอน,ขาตั้งกล้อง ฯลฯ นอกจากกระเป๋าด้านข้างที่ยื่นออกมาจะเกะกะแล้ว ยังมีขนาดจำกัด หากใส่ของเกินขนาดของกระเป๋าก็จะปิดไม่ลง
การวางเป้บนพื้น
เวลาตั้งเป้กับพื้น เป้มักจะตั้งตรงไม่ได้ มักจะคว่ำหน้าลงกับพื้น วิธีตั้งเป้ให้ตรงเพื่อจัดของ คือ ใช้เชือกแขวนหูหิ้วด้านบนของเป้ ไว้โดยให้ก้นเป้ติดพื้นอยู่ อาจแขวนไว้กับกิ่งไม้ด้านบน หรือ ขึงเชือกไว้ระหว่างต้นไม้ 2 ต้น แล้วแขวนเชือกอีกเส้นไว้ลงมาผูกกับหูหิ้วด้านบนของเป้
เป้สะพายหลัง อาจจะมีสารเคลือบกันน้ำ ส่วนใหญ่ใช้โพลียูรีเทน ซึ่งเป็น polymer มีคุณสมบัติ water resistant ไม่ใช่ waterproof คือ กันน้ำได้ แต่ไม่มีโพลียูรีเทนที่กันน้ำได้ 100% นั่นคือ เมื่อตากฝนเป็นเวลานานๆน้ำจะซึมเข้าไปถึงด้านในเป้ ทำให้เสื้อผ้าชื้น ดังนั้น เสื้อผ้าจึงควรใส่ถุงพลาสติกอีกชั้นและเมื่อออกจากป่าแล้ว ควรจะนำเป้มาผึ่งลมให้แห้ง อย่าเก็บทั้งที่เปียกๆ มิฉะนั้น เมื่อโพลียูรีเทนโดนน้ำไปนานๆจะลอกออกจากผ้า ทำให้คุณสมบัติกันน้ำหมดไป การลอกสารเคลือบเป้ก็ทำวิธีเดียวกันคือ นำเป้ไปแช่น้ำนานๆ ถ้าไม่มีเป้สะพายหลัง สามารถใช้ผ้าขาวม้าห่อของไว้ตรงกลาง แล้วผูกปลายทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันทำเป็นสายสะพาย แม้แต่เสื้อหรือกางเกง ผูกปลายไว้ไม่ให้รั่ว ใช้ใส่ของได้ หรือจะใช้เชือกมาถักเป็นถุงตาข่ายใส่ของได้เช่นกัน