
เลือก รองเท้าเดินป่าคุณภาพดี แฮปปี้ตลอดทาง
เลือกรองเท้าเดินป่าคุณภาพดี แฮปปี้ตลอดทาง
รองเท้าเดินป่าคุณภาพดี แตกต่างจากรองเท้าทั่วไปที่ใส่เดินพื้นราบตรงที่ ควรมีหัวแหลม เพื่อเวลาลงเขาแล้ว เล็บเท้าจะต้องไม่ชนกับหัวรองเท้า มิฉะนั้นจะทำให้เล็บหลุดได้ นอกจากนี้ ควรจะหนาและสูงพอเพื่อป้องกันงูกัด และป้องกันพยาธิไชเข้าไปในเท้า แต่ควรมีผ้าอยู่สูงพอที่จะใช้ฉีดยาป้องกันเห็บหรือทากโดยไม่เปื้อนดิน เทียบรองเท้าใส่ในเมืองได้กับรถขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่ใช้บนถนนลาดยางได้สบาย แต่พอไปตามทางลูกรังเจอหล่ม หรือเจอทางชันๆ ฝุ่นหนาๆ มักจะไปไม่รอด รถออฟโรดจึงต้องใช้แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ลักษณะของรองเท้าที่ไม่ควรใส่เดินป่า
1. รองเท้าที่ไม่ควรใส่คือรองเท้าเปิดหัว เนื่องจากอาจเตะก้อนหินเลือดสาดได้ ที่สำคัญ คือโดนงูกัด คนส่วนใหญ่จะโดนงูกัดที่นิ้วเท้า เนื่องจากธรรมชาติของงูจะกัดใกล้ๆกับสิ่งที่มาโดนตัวมัน หลายคนใส่รองเท้าเปิดหัว เนื่องจาก เคยฝังใจจากการใส่รองเท้าไม่ดี ทำให้เวลาลงเขาแล้วรองเท้ากัดเล็บ วิธีป้องกันรองเท้ากัดเล็บที่ถูกต้องคือ หารองเท้าหัวแหลมหรือถ้าจำเป็นต้องใส่รองเท้าหัวทู่ เวลาเดินลงเขาพยายามอย่าใช้หัวนิ้วเท้าลงตรงๆ ควรใช้ข้างเท้าหรือส้นเท้าลง แต่วิธีนี้จะเดินไม่เต็มเท้า ทำให้ทรงตัวไม่ดี
2.รองเท้าหุ้มส้น คือ หุ้มไม่ถึงข้อเท้า ไม่เหมาะใช้เดินป่าเพราะเดินไปนานๆมีโอกาสกัดหลังข้อเท้าเป็นแผลได้ เวลาลุยน้ำมีโอกาสที่น้ำเข้าง่ายพอน้ำเข้าแล้วไม่ออก ถอดอีกทีเท้าเปื่อยไปแล้วเวลาลุยโคลนอาจจะจมลึกลงไปถึงข้อเท้า ทำให้โคลนและพยาธิเข้าไปในรองเท้าเวลาเดินเลาะริมลำธาร ก็จะมีกรวดทรายเข้าไปในรองเท้าได้ง่ายกรวดทรายในรองเท้าจะเป็นเหมือนกระดาษทรายที่เสียดสีจนเท้าเป็นแผลแม้แต่รองเท้าหุ้มข้อเตี้ยๆก็ยังเจอปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะ รองเท้ายางหล่อสีดำหุ้มส้น ที่พื้นเหมือนรองเท้าเตะบอล ที่บางคนเรียกว่าสตั๊ดดอย เดินได้แค่วันเดียวขอบรองเท้าจะเสียดสีจนข้อเท้าเป็นแผลพอเป็นแผลแล้ววันต่อไปจะเดินลำบากแต่ที่เราเห็นชาวบ้านบางคนชอบใส่รองเท้ายางหล่อแบบนี้เพราะเหตุผลหลักคือราคาถูก และพื้นรองเท้ายึดเกาะดินหรือหินแห้งๆได้ดีพอสมควรแต่ถ้าเจอโคลนหรือหินเปียกก็แย่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนก็ใส่ตามชาวบ้านเพื่อเวลาตามจับพวกลักลอบตัดไม้รอยเท้าจะได้แยกกันไม่ออก พอเท้าเจ็บก็อาศัยทนๆเอาหรือหาวิธีแก้ขัดไป
การป้องกันเท้าพลิกเวลาเดินป่า
วิธีป้องกันเท้าพลิกเวลาเดินตามที่ลื่นๆ คือพยายามจับต้นไม้หรือก้อนหินไว้ก่อนแล้วค่อยก้าวเท้าออกไป ขยับเท้าให้แน่ใจว่า ก้าวต่อไปจะไม่ลื่น แล้วจึงค่อยเหยียบเต็มเท้า
วิธีทำให้รองเท้าเกาะหินเปียกได้ดีมาก คือ หารองเท้าพื้นเรียบ ใช้คัตเตอร์กรีดพื้นรองเท้าให้เป็นเส้นๆ ในแนวตั้งฉากกับความยาวรองเท้า รองเท้าประเภทนี้ที่มีวางขายอยู่ เช่น vibram fivefingers หรือพวกรองเท้าผ้าใบนันยางสามารถใช้แทนกันได้
รองเท้าที่มีดอกยางลึกๆ ไม่มีประโยชน์ในการเดินป่า ถ้าเหยียบโคลน โคลนจะฝังในร่องดอกยาง จนกลายเป็นรองเท้าพื้นเรียบและจะลื่นไม่ต่างจากรองเท้าพื้นเรียบ
ทากอย่างเดียวหรือเห็บอย่างเดียวป้องกันได้ไม่ยาก ใส่รองเท้าอะไรก็ได้แล้วฉีดยาที่รองเท้าหรือถุงเท้าไว้แต่ถ้ามีทั้งทากและเห็บจะเริ่มมีปัญหาเพราะว่ายากันทากและยากันเห็บเป็นคนละตัวกัน และผสมกันไม่ได้ เพราจะทำปฏิกิริยากลายเป็นสารที่มีอันตรายจำเป็นต้องฉีดแยกพื้นที่กัน ถ้าใส่รองเท้าผ้าใบ ใส่ถุงกันทากทับถุงเท้าไว้จะช่วยให้แก้ขัดได้ถุงกันทากควรรัดถึงแค่ใต้หัวเข่าพอแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้แบบที่รัดเหนือหัวเข่า เพราะเหนือหัวเข่าจะเรียวลงมาไม่มีร่องขาให้ยึดเหมือนใต้หัวเข่าเวลาเดินไปส่วนที่รัดเหนือหัวเข่าจะรูดลงมาเรื่อยๆจนชนหัวเข่า เหตุผลที่แท้จริงของส่วนที่รัดเหนือหัวเข่าคือ ออกแบบมาเพื่อใส่ยาฉุน เวลาเดินป่าหน้าฝน ยาฉุนจะโดนน้ำฝนละลายลงไปด้านล่างเพื่อกันทากแต่ปัจจุบันเราไม่ใช้ยาฉุนแล้ว เพราะเลอะเทอะและใช้ยาก ต้องจุ่มน้ำแล้วนำมาทา ดังนั้นถ้าถุงกันทากสูงกว่าหัวเข่าควรจะตัดทิ้งเสียเวลาเดินจะได้ไม่เกะกะ รูดลงไปกองอยู่ใต้หัวเข่าทำให้ต้องคอยดึงข้อเสียของถุงกันทากที่ทำจากผ้าดิบหรือผ้าไนล่อนคือลื่น ทำให้เดินลำบากและด้วยความลื่น ทำให้เวลาเดินเท้าต้องเลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างสุดท้ายถุงมักจะขาดตรงบริเวณรอยเย็บที่เท้า
รองเท้าเดินป่าที่ดี
รองเท้าเดินป่าที่ดีควรมีพื้นหนาเพื่อเวลาเหยียบก้อนหินแหลมๆจะได้ไม่เจ็บเท้าและป้องกันหนามหวายตำทะลุขึ้นมาที่เท้า พื้นด้านหน้าและด้านหลังควรจะอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ควรมีส้น เพราะรองเท้ามีส้น เวลาเดินหรือยืนบนทางราบ เท้าจะดันไปข้างหน้า ทำให้เท้าไหลไปชนกับหัวรองเท้า ทำให้เจ็บปลายเท้าได้ง่าย เช่น
1. รองเท้าบูทยาง คือ แห้งง่าย แค่เทน้ำออกแล้วสะบัดก็แห้งหมาดๆแล้ว ถอดง่ายใส่ง่าย และกันงูกัดได้ สาเหตุที่คนไม่ชอบใส่รองเท้าบูทยางเพราะกลัวร้อน แต่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากเขาไม่ใส่ถุงเท้า ถุงเท้าจะช่วยซับเหงื่อและป้องกันการเสียดสี ถ้าใส่ถุงเท้ากับรองเท้าบูทยางแล้วรับรองว่าเดินสบายทั้งวันไม่โดนรองเท้ากัดด้วย
2. รองเท้าผ้าใบ แต่ละแบบเหมาะสำหรับการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น
• แบบเคลือบกันน้ำพวกผ้า gore-tex หรือ ที่ทำจากหนังเคลือบ ข้างในบุฟองน้ำ พอข้างในเปียกแล้วกว่าจะแห้งต้องใช้เวลาหลายวัน (ประมาณ 3 วัน) เพราะความชื้นจะระเหยออกได้ทางด้านบนเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะคว่ำไว้ค้างคืนก็ยังไม่แห้ง รองเท้าพวกนี้จึงไม่เหมาะที่จะใส่เดินป่าหลายวัน เหมาะสำหรับใส่ลุยหิมะหรือเที่ยวตามสถานที่จัดไว้ ถ้าน้ำเข้า ข้างในจะเปียกต้องหาวิธีทำให้แห้ง เช่นยัดกระดาษหนังสือพิมพ์หรือผ้าเช็ดตัวเข้าไปซับน้ำ ควรเลือกรองเท้าที่ข้างในเป็นผ้า gore-tex ข้างนอกเป็น nylon mesh จะลดปัญหาเรื่องด้านในแห้งยากไปได้
• แบบไม่กันน้ำที่ทำจากผ้า nylon mesh เหมาะสำหรับเดินป่าที่ต้องลุยน้ำบ่อยๆ เพราะ เมื่อน้ำเข้าไปในรองเท้าแล้ว เวลาเดินขึ้นมาจากน้ำ น้ำในรองเท้าจะไหลออกมาด้านข้าง เดินไปสักพักรองเท้าจะเริ่มแห้ง หรือถ้าถอดคว่ำไว้ตอนกลางคืน ตื่นเช้ามาจะแห้งและเหมาะสำหรับใช้ในที่อากาศร้อนๆ เพราะรองเท้าระบายความร้อนดีทำให้เท้าไม่ชุ่มเหงื่อ แต่ข้อเสียคือ ถ้าต้องลุยน้ำตื้นๆ อย่างมากแค่ตาตุ่มหรือมีน้ำค้างตามใบไม้ น้ำจะเข้ารองเท้าได้ง่ายเกินไป รองเท้าพวกนี้จึงไม่เหมาะสำหรับเดินป่าหน้าฝนที่ต้องเจอน้ำตื้น หรือลุยโคลนเป็นระยะ
เวลาอยู่ในป่า อย่าเดินเท้าเปล่าควรใส่รองเท้าอยู่เสมอ เท้าเปล่าอาจจะโดนหนามตำโดนเศษไม้บาด ส่วนบนพื้นดินที่เฉอะแฉะอาจมีตัวอ่อนของพยาธิ เช่น พยาธิปากขอที่เจาะเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เราเป็นโรคต่างๆตามมา นอกจากนี้บนผืนป่ายังเปียกแม้แต่บนก้อนหินก็ยังปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำเปียกๆ การเดินเท้าเปล่านานๆจะทำให้เท้าเปื่อยถ้าอากาศหนาวร่างกายจะสูญเสียความร้อนจากเท้าลงสู่พื้นดินได้ง่าย