
เดินป่าอย่าใจลอย ระวังงูเงี้ยวเขี้ยวขอข้างทาง
เดินป่าอย่าใจลอย ระวังงูเงี้ยวเขี้ยวขอข้างทาง
การเดินป่าทำให้เราได้พบกับสิ่งต่างๆที่อยู่รายรอบตัวเรา นอกจากจะได้ชื่นชมกับธรรมชาติสวยงามข้างทางแล้ว ก็อย่าเดินเพลินจนลืมไปว่า เดินป่าอย่าใจลอย เพราะในส่วนหนึ่งก็มีสัตว์ป่ามากมายที่ไม่ได้พร้อมจะเป็นมิตรกับเราด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ งู
เข้าป่าระวังงู
งูจะชอบอยู่ใกล้ๆน้ำเพราะใกล้น้ำจะมีอาหารพวกกบ เขียด แต่บนเขาก็มีโอกาสพบได้เช่นกัน แม้แต่งูเห่าที่มักพบตามพื้นราบก็อาจจะพบตามภูเขาได้ ตามปกติงูจะกัดคนเมื่อไปถูกตัวมัน และจะกัดตรงใกล้ๆจุดที่สัมผัสกับตัวมัน คนส่วนใหญ่จะโดนงูกัดบริเวณนิ้วเท้าและเท้า ดังนั้น ถ้ากลัวเหยียบงู ให้ใส่รองเท้าบูทยางสูงกว่าข้อเท้าถือว่าปลอดภัยพอสมควรแล้ว งูจะกัดยางไม่เข้า ส่วนกางเกงและรองเท้าผ้าใบจะป้องกันงูตัวเล็กๆได้
งูส่วนใหญ่จะออกหากินตอนกลางคืน พอตอนกลางวันจะขึ้นไปนอนอยู่บนต้นไม้ ถึงแม้ว่างูบางชนิดจะออกหากินตอนกลางวันด้วยเช่นงูจงอาง การเดินในป่าตอนกลางวันจึงปลอดภัยกว่าตอนกลางคืน ที่ว่ากันว่า ให้เดินเสียงดังๆ เพื่อที่งูจะหนีนั้นไม่จริงเสมอไป เช่น งูเขียวที่ชอบพันอยู่ตามกิ่งไม้สูงประมาณหน้าอกของคน เวลามันได้ยินเสียงคนเข้าไปใกล้ มันจะสงบนิ่งดูท่าที อาจจะใช้หางตีใบไม้แปะๆเพื่อขู่ ถ้าเรายืนเฉยๆเงียบๆจึงจะได้ยินเสียง แต่ถ้าดูด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นตัวมันเพราะมีใบไม้บังอยู่ ถ้าเข้าไปใกล้ตัวมันน้อยกว่า 1คืบ หรือไปถูกตัวมันเข้ามันจึงจะฉก และจะฉกตรงใกล้ๆตัวมัน ดังนั้นเวลาเดินป่าจึงควรมีไม้เท้าเพื่อที่จะได้ใช้แหวกกิ่งไม้ที่ขวางหน้าและด้านข้างที่ตัวอาจจะไปเกี่ยว เข้า เพื่อดูว่ามีงูอยู่หรือเปล่า และเวลาฟันกิ่งไม้ ควรจะใช้ปลายมีดแหวกดูก่อนว่ามีงูเกาะอยู่หรือไม่ และ ควรจะดูแนวที่มือแกว่งไปจนสุดว่ามีงูเกาะอยู่หรือไม่
หลักการปฏิบัติ เพื่อป้องกันงูกัด คือ
• ถ้าเจองูอย่าไปยุ่งกับมันและอย่าหันหลังให้มัน ถ้าเจองูกำลังขู่ กระโดดหนีได้ให้หนี จะหนีไปทางไหนก็ได้ พยายามให้อยู่ห่างๆตัวมันให้มากที่สุด แล้วยืนเฉยๆ มันจะเลื้อยหนีไปเอง
• ถ้างูพุ่งเข้ามาหา แสดงว่ามันตั้งใจจะทำร้ายเราแน่นอน ถึงวิ่งหนีมันก็ยังตาม และเราจะไม่มีทางหนีงูทัน ถ้าวิ่งไปก็จะสะดุดท่อนไม้หกล้ม เพราะฉะนั้น อย่าหันหลังวิ่งหนี ถึงแม้ว่างูเลื้อยได้เร็วมาก จนตาเรามองไม่ทัน แต่ตอนมันเตรียมจะฉก เรายังมีโอกาสป้องกันตัวได้ ถ้ามีเสื้อผ้าโยนออกไปให้มันรัด ถ้ามีไม้ยื่นไม้ออกไปมันจะฉกไม้แทน หรือ ถ้าไม่มีอะไรเลย ยื่นพื้นรองเท้าออกไปถีบหัวมัน มันจะฉกพื้นรองเท้าแทน ซึ่งแน่นอนว่า ฉกไม่เข้า ปล่อยให้มันฉกไม่กี่ครั้ง มันจะหนีไป
• ก่อนจะโผล่ไปในที่ๆมองไม่เห็นควรทำเสียงไล่งูก่อน โดยใช้ไม้เขี่ย หรือ ใช้มีดฟัน มิฉะนั้น เราอาจโผล่ไปเจองูที่รออยู่ฉก ลำพังแค่เดินเสียงดังๆนั้นยังไม่พอไล่งูได้
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกงูกัด
เมื่อถูกงูกัด ขั้นแรกให้สังเกตว่าเป็นงูพิษหรือไม่ งูพิษจะมี 2 เขี้ยว ส่วนงูไม่มีพิษจะมีรอยฟันจำนวนมาก ถึงแม้จะเป็นงูไม่มีพิษ ก็มีเชื้อโรคที่เมื่อโดนกัดอาจติดเชื้อถึงตายได้ ถ้าเป็นงูพิษเมื่อกัดแล้วประมาณครึ่งชั่วโมงหรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนพิษที่เข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มมีอาการอ่อนแรง ถ้าถูกงูพิษกัดให้โทรตามคนที่อยู่ใกล้ๆแถวนั้นมาช่วย แล้วปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำให้พิษไหลเข้าหัวใจช้าลง โดยนั่งลงให้จุดที่ถูกกัดอยู่ต่ำกว่าหัวใจ อาจใช้ผ้ารัดเหนือจุดที่ถูกกัด โดยให้มีช่องว่างพอให้นิ้วสอดเข้าไปได้ แต่อย่ารัดแน่นจนเกินไปจะทำให้ขาดเลือด ที่สำคัญห้ามกรีดแผลและไม่ควรใช้ปากดูดเพราะในปากมีเชื้อโรคอยู่ ถ้ามีsnake bite kit แบบ suction ดูดพิษงูได้จริง ควรหยิบมาใช้ ถึงแม้ว่างานวิจัยจะพบว่าจะดูดได้แต่เลือดก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
วิธีการจับงูให้พ้นทาง
การจับงูให้ใช้กิ่งไม้กดหัวมันไว้แล้วจึงใช้มือจับตรงคอมันมันจะได้กัดไม่ได้ ถ้าชำนาญในการจับงู ก็ไม่ต้องใช้กิ่งไม้กดใช้มือคว้าได้เลย แต่ถ้าจับหัวอย่างเดียวมันอาจจะใช้หางรัดได้ งูตัวใหญ่อย่างเช่น งูเหลือม งูจงอาง สามารถรัดคนจนหายใจไม่ออกได้ การจะควบคุมตัวมันต้องจับทั้งหัวและหางจึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง
ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการเดินป่า
ก่อนออกเดินป่าควรสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่าง ๆให้พร้อม ดื่มน้ำให้อิ่มและเติมกระติกน้ำให้เต็มศึกษาจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางให้เข้าใจ โดยมีหลักการเดินต่างๆดังนี้
• เดินอย่างออมกำลัง
• ฝึกสายตาให้คุ้นเคยกับสภาพป่า
• ระหว่างที่เดินไม่ควรส่งเสียงดังจนเกินไป
• พยายามเดินตามทางเท้า
• พยายามปกปิดทุกส่วนของร่างกายให้มิดชิด
• เดินแถวเรียงเดี่ยว ควรทิ้งระยะห่างกันพอสมควร แต่ต้องให้อยู่ในสายตาตลอด
• เดินทางด้วยความเร็วสม่ำเสมอ พักทุก ๆ ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 5-10 นาที
• ไม่ควรแยกเดินไปคนเดียวไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ต้องมีเพื่อนไปด้วยทุกครั้ง