
เทคนิคการเดินป่าอย่างปลอดภัย เซฟตัวเอง ถนอมร่างกาย
เทคนิคการเดินป่าอย่างปลอดภัย เซฟตัวเอง ถนอมร่างกาย
เทคนิคการเดินป่าอย่างปลอดภัย การเดินป่าวันแรกควรจะเดินช้าๆตามกำลังของร่างกาย ออมแรงไว้เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ถ้าฝืนรีบเดินตามคนหน้า อาจช็อกหรือหมดแรงเมื่อออมแรงดีแล้ว วันต่อมาร่างกายเริ่มปรับตัวแล้ว จะเริ่มเดินเร็วขึ้นเรื่อยๆทำแบบนี้ถึงแม้ว่าวันสุดท้ายหรือช่วงเย็นที่คนอื่นหมดแรง แต่เรายังมีแรงอยู่เหลือเฟือครับ
วิธีเดินป่าไม่ให้ลื่นล้ม คือหาที่จับก่อนแล้วค่อยก้าว ถ้าเดินในป่าให้จับต้นไม้แล้วทดลองเหยียบให้แน่ใจว่าดินข้างหน้าไม่เป็นหลุม ควรจะเกาะต้นไม้ทั้ง 2 มือเผื่อว่าไปจับโดนไม้ผุทำให้เสียหลัก ถ้าลงทางชันไม่มีต้นไม้ให้เกาะให้นั่งยองๆแล้วใช้มือยันกับก้อนหินหรือดินที่พื้น แล้วค่อยยื่นขาออกไปทีละข้างถ้าเดินในลำห้วยอาจจะจับก้อนหิน ลองแหย่ขาออกไปเหยียบหินก้อนต่อไปแล้วขยับเท้าให้แน่ใจก่อนว่าจะไม่ลื่นหรือหินพลิก จึงค่อยก้าวออกไปถ้าน้ำลึกมากก้มลงไปจับก้อนหินไม่ได้ ให้ใช้ไม้เท้า 2 อันช่วยค้ำถ้าไม่มีไม้เท้าพยายามก้าวสั้นๆจะทรงตัวขึ้น
วิธีเดินขึ้นเขาไม่ให้เหนื่อย คือ ดูลมหายใจดูว่ากำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก ลมหายใจยาวหรือสั้นลมหายใจแรงหรือเบา ดูอยู่อย่างนี้ก็จะลืมความเหนื่อย แต่ถ้าเผลอใจลอยไปคิดเรื่องอื่นอาจจะเหนื่อยอีก ถ้าเริ่มเหนื่อยพยายามเดินช้าลง ก้าวสั้นๆถ้าคนหน้าเดินเร็ว เราจะพยายามเร่งสปีดเพราะกลัวเดินตามคนหน้าไม่ทัน ช่วงเวลาที่พยายามเดินให้เร็วขึ้นนี้เองจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เรียกว่ามัวแต่ดูคนอื่นจนลืมดูตัวเอง หรือถ้ามัวแต่คิดว่าเหนื่อยก็จะยิ่งเหนื่อย แต่ถ้าเปลี่ยนมาดูลมหายใจเราจะพยายามควบคุมการเดินไม่ให้ลมหายใจเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ถ้าไปกันหลายคนแล้วมีคนที่เหนื่อยจนเดินไม่ไหวเปลี่ยนให้คนนั้นมาเดินนำหน้า เขาจะหายเหนื่อยเพราะการเดินตามก้นคนอื่นจะมีแรงกดดันแต่การเดินนำหน้าจะเดินตามกำลังของตัวเอง
หลังจากการเดินป่า เมื่อลงเขามาแล้ววันรุ่งขึ้นจะเจ็บกล้ามเนื้อขาเวลาย่อขาเพื่อขึ้นลงบันไดหรือทางชันทำให้เดินขาตรงได้อย่างเดียว สาเหตุเกิดจากลงเขาผิดวิธีคือลงเขาเร็วเกินไปและใช้กล้ามเนื้อขาเบรคมากเกินไป วิธีป้องกันคือเวลาลงเขาพยายามลงช้าๆ หาต้นไม้เกาะหาไม้เท้ายัน เพื่อใช้กล้ามเนื้อขาให้น้อยที่สุดบางคนเข้าใจผิดไปกินยาคลายเนื้อ แล้วไม่ดีขึ้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัว แต่เกิดจากกล้ามเนื้อบอบช้ำ ทางรักษาที่ดีที่สุดคือหยุดพัก รอให้ผ่านไปสัก 2-3 วันจึงเริ่มดีขึ้นถ้าสัก 1 สัปดาห์ก็จะหายสนิท
ข้อควรระวังในการเดินป่า เวลาเดินป่าพยายามระวังอย่าให้เจ็บตัว ถ้าเจ็บตัวแล้ว อยู่บ้านยังพักได้พอเจ็บป่วยในป่าแล้ว หยุดพักไม่ได้ถึงป่วยก็ต้องเดิน ถึงเจ็บมือก็ยังต้องใช้มือหยิบจัดของในเป้ทุกวัน เวลาอยู่ในป่า ร่างกายมีโอกาสได้รับความบอบช้ำง่ายมากจุดที่บาดเจ็บง่ายที่สุดคือ มือและเท้า ถ้าเข้าป่าระยะสั้น 1-2 คืน ถึงเจ็บตัวก็ยังพอทนได้ออกจากป่ามาแล้วพักได้แต่ถ้าเข้าป่าหลายๆวัน พอเจ็บตัวแล้วจะเดินทางต่อลำบาก เวลาเข้าป่าหลายวันจึงควรจะถนอมร่างกายให้มากที่สุดอย่าให้เจ็บอย่าให้ป่วยด้วยการ
• สวมถุงมือ ป้องกันหนามตำหักคาผิวหนัง มือที่เจ็บจะหยิบจับของไม่ได้ ถ้าเผลอไปโดนจะยิ่งเจ็บมาก และทำให้แผลหายช้าลง
• สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าปิดคอ ตลอดเวลา เพื่อป้องกันยุงและริ้น และฉีดยาป้องกันเห็บและทากอย่าให้ขาด
• เดินด้วยความระมัดระวัง อย่ารีบ เพราะถ้าพลาดล้ม จะเจ็บตัว นิ้วมือบวม เท้าแพลง
• ถ้าต้องเดินฝ่าดงหนาม แล้วโดนหนมตำบริเวณหน้าแข้ง ให้หาใบไม้หนาๆเช่น ว่านหางจรเข้ (อย่าลืมขูดหนามออก) นำมาแปะไว้ตรงหน้าแข้งแล้วครอบให้อยู่กับที่ด้วยถุงเท้า ใบไม้หนาๆจะช่วยรับหนามแทนหน้าแข้ง
เมื่อร่างกายมีปัญหาไม่สบาย หรือ เป็นแผลสิ่งที่ควรทำคือพักอยู่กับที่หรือหาทางออกจากป่าให้เร็วที่สุด อย่าฝืนเดินทางต่อไปยังจุดหมาย มิฉะนั้นจะยิ่งเจ็บตัวมากขึ้นจนอาจจะกลับไม่ได้เมื่อส่วนใดของร่างกายบาดเจ็บ หากหยุดพักอยู่กับที่ ผ่านไป 1 สัปดาห์อาการจะเริ่มดีขึ้นมากถ้าพักนาน 2 สัปดาห์จะหายสนิทแต่ถ้าส่วนที่บาดเจ็บนั้นถูกใช้งานโดยไม่หยุดพัก ก็จะไม่หายสักที ดังนั้นหลังออกมาจากป่าแต่ละครั้ง ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเข้าป่าครั้งต่อไปเพื่อรักษาตัวให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ