ชวนเพื่อนๆที่รักการผจญภัย สนุกกับ การเดินป่า ไปด้วยกัน
การเดินป่า เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความอุตสาหะ กำลังใจระหว่างเพื่อนร่วมทีมบวกกับ ความมุ่งมั่น อีกทั้งยังต้องเตรียมพร้อมทางร่างกายและจิตใจให้พร้อมสู่การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆรอบตัว ประโยชน์ของการเดินป่า คือ เป็นการออกกำลังกายในระยะเวลายาวทำให้ร่างกายแข็งแรงและได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่แตกต่างจากที่เคยทำด้วย ซึ่งการเดินป่าถือเป็นการท่องเที่ยวที่สามารถไปสัมผัสความสวยงามและความสมบูรณ์ของพื้นที่ธรรมชาติในระบบนิเวศ ซึ่งนักเดินป่าที่ดีนั้นควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมที่ปรากฏในพื้นที่ธรรมชาตินั้นด้วยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักเดินป่าที่ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
สาระน่ารู้เพื่อเติม เรื่องเทคนิคการเดินป่า
เทคนิคสำคัญที่สุดของการเดินป่า คือ การรักษาระดับการหายใจให้สม่ำเสมอก้าวเท้าแบบสมาธิ ให้ประสานกับการหายใจ รักษาความเร็วในการเดินสม่ำเสมอ ไม่ต้องเร่งเดิน ควรหายใจทั้งทางจมูกและปาก การก้าวเดินเมื่อขึ้นเขาหรือลงเขาให้ก้าวสั้นกว่าปกติ อย่าให้ต้องก้าวขึ้นหรือลงสูงเกินไป หาจุดวางเท้าให้ระยะความสูงของก้าวเท้าต่ำๆ เมื่อลงเขาหรือขึ้นเขาให้วางเท้าแบบเฉียงๆถ้าชันมากให้วางเท้าขวาง 90 องศาเลย จะทำให้โอกาสลื่นล้มน้อยลง เมื่อเดินเลาะริมผาหรือริมเขาให้กางมือแตะผนังไว้ ตัวเราก็จะเอนเข้าหาด้านนั้นโดยธรรมชาติ
การเตรียมร่างกายก่อนออกเดินป่า
1. ควรออกกำลังกายประจำ เช่น วิ่ง ออกกำลังฟิตเนส หรือการบริหารร่างกาย การฝึกโยคะ เพื่อให้หัวใจ กล้ามเนื้อ ร่างกายทุกส่วนได้คุ้นเคยก่อนที่จะใช้งานในการเดินป่า 2. ให้ออกกำลังกายท่าง่ายๆเพิ่มเติมที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ น่องและขาโดยตรงอย่างแท้จริง คือ ท่ายืน-นั่งยอง (sit up) โดยเอามือกุมกันวางบนศีรษะ ยืนเท้าห่างกันเท่ากับไหล่ หายใจออก - พร้อมย่อขานั่งยอง หายใจเข้า-พร้อมยืดขายืนขึ้น ทำเซทละ 50 ครั้ง / ไม่เกิน 2 นาที พัก 10 นาทีแล้วทำต่ออีก หนึ่งเซท ทำวันละ 2 - 4 เซท (เช้า / เย็น) ใช้เวลาเพียงวันละ 8 นาที ระหว่างดูโทรทัศน์ ก็ทำท่านี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะดีมาก เริ่มฝึกตั้งแต่ ก่อนออกทริปอย่างน้อย 30 - 40 วัน เริ่มจาก 20 -30 - 40 - 50 ครั้ง ควรทำได้ครบ 50ครั้ง / เซทก่อนออกทริปอย่างน้อย 7 วัน จะมีกำลังขาและน่องพอเพียงสำหรับการเดินป่าได้ 3. ขอแนะนำว่า ให้ใช้ไม้เท้าในการเดินป่าทุกครั้ง ไม้เท้าดีมีประโยชน์สูงสุดควรมีความยาวเท่าความสูงของตัวเรา + 20 เซนติเมตร หรืออย่างน้อยก็ยาวเท่าความสูงของตัวเรา เมื่อใช้ไม้เท้าเป็นแล้วเส้นทางเดินที่ยากก็จะง่ายลงมาก หากใช้ไม้เท้าเป็นถือไม้เท้าเป็นแล้ว เส้นทางที่ว่ายากก็จะง่ายลงมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เหนื่อยน้อยลง เมื่อยน้อยลง เดินได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเดินในน้ำ เดินขึ้นเขา เดินลงเขา หรือแม้แต่พื้นราบก็ตาม 4.เติมน้ำเต็มกระติกก่อนออกเดินทาง ถ้าจะเติมจากลำธารต้องแน่ใจก่อนว่าต้นน้ำไม่มีแหล่งมลพิษ 5. ควรนำหมากฝรั่งติดตัวไปด้วย ช่วยให้คุณไม่ต้องทนปากเหม็นและช่วยประหยัดน้ำเอาไว้ดื่มกินอีกด้วย 6. ถ้าโดนเห็บกัด อย่าพยายามดึงมันออกทันที เพราะเขี้ยวมันจะหลุดฝังคาผิวหนัง ให้เอายาหม่องทาทับที่ตัวเห็บ เมื่อร้อนก็จะคลายเขี้ยวออกมาเอง 7. ช่วงเวลากลางคืนควรเก็บรองเท้าและเป้ไว้ในเต็นท์ เพราะอาจมีสัตว์ที่มีพิษแอบเข้าไปอาศัยอยู่ 8. ถ้าเห็นทากกำลังดูดเลือด การแกะทำได้ยาก ควรแต้มด้วยยาหม่อง ยาดม หรือน้ำมันหอมระเหยจะทำให้ทากทิ้งตัวหลุดออกจากผิวหนังทันที รอยแผลที่ผิวหนังควรปล่อยให้เลือดไหลและแห้งไปเองหรือจะทาแผลด้วยครีมแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันก็ได้ ไม่ควรเช็ดแผลบ่อยเพราะยิ่งเช็ดเลือดจะยิ่งออก 9. สำหรับการเลือกเส้นทางการเดินในหุบเขา จะรกเรื้อไปด้วยต้นไม้ รวมถึงมีเถาวัลย์และไม้มีพิษอาจไม่เหมาะกับนักเดินป่ามือใหม่ ส่วนเส้นทางเดินบนสันเขา เป็นจุดที่สัตว์ป่ามักจะใช้เป็นเส้นทางเดินประจำหรือที่เรียกว่า ด่านสัตว์ ทำให้ง่ายแก่การเดินทางข้อควรปฏิบัติในการเดินป่า
1. ระหว่างที่เดินไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า 2. หากกระหายน้ำควรจิบทีละน้อยเพื่อไม่ให้เกิดอาการจุกเสียดระหว่างการเดินทาง 3. พยายามเดินตามทางเดินเท้า ควรเดินอย่างออมกำลัง ฝึกสายตาให้คุ้นเคยกับสภาพป่า 4. เดินแถวเรียงเดี่ยว ระยะห่างพอสมควร แต่ต้องอยู่ในสายตาตลอด 5. เดินด้วยความเร็วสม่ำเสมอ และควรพักประมาณ 5-10 นาที ทุกๆ 1 ชม. 6. ไม่ควรเดินคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เพราะอาจหลงป่าได้ 7. อย่าจับหรือทำร้ายสัตว์ป่า 8. ไม่ควรเก็บหรือทำลายธรรมชาติของป่า 9. ไม่ควรทิ้งเศษขยะ ควรนำติดตัวมาทิ้งในเมือง 10. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในป่า เพราะอาจนำโรคติดต่อไปแพร่สู่สัตว์ป่าได้ 11. ปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเคร่งครัด