การเตรียมตัวที่ดี ทำให้ การเดินป่า ราบรื่น
การเดินในป่าเป็นการชาร์จแบตให้กับตนเอง มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจและช่วยฟื้นฟูสมาธิ การเดินในป่ายังได้ออกกำลังกาย ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และ การเดินป่า ยังได้ความสนุกตรงที่เป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง
การเตรียมตัวก่อนการเดินป่า
ก่อนจะไปเดินป่าควรมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อหาซื้ออาหาร เตรียมอาหาร ชาร์จแบตเตอรี่ หาอุปกรณ์ จัดของ ศึกษาแผนที่ ถ้ามีเวลาน้อยกว่านี้ อาจตกหล่นบางเรื่องไป แค่ซื้ออาหารอย่างเดียวก็อาจไม่ทัน เพราะอาหารแห้งบางอย่างขาดตลาดช่วงนั้นพอดี ยกเว้นคนที่เดินป่าเป็นประจำ และมีของทุกอย่างสำรองไว้แล้ว อาจใช้เวลาเตรียมตัวแค่วันเดียว แต่ถ้ามีอุปกรณ์ไม่ครบต้องไปหาซื้อ เวลาเพียง 1 สัปดาห์จะไม่พอเพราะอุปกรณ์เดินป่าไม่เหมือนอุปกรณ์ที่ใช้ตามบ้านจึงไม่มีวางขายตามร้านค้าทั่วไป การจัดของควรทำแต่เนิ่นๆ เพราะอุปกรณ์เดินป่าค่อนข้างจุกจิก ถ้ามาจัดของวันสุดท้ายก่อนเดินทางมักจะจัดไม่ทันทำให้คืนนั้นนอนน้อยพอวันรุ่งขึ้นไปเดินป่าจะไม่ค่อยมีแรง นอกจากนี้การจัดของเวลารีบๆมักจะลืมของบางอย่างทำให้เวลาอยู่ในป่าไม่มีใช้
การใช้พลังกายในการเดินป่า
เวลาเข้าป่าต้องใช้อวัยวะทุกส่วนในร่างกายหยุดพักไม่ได้เลย คนที่จะเข้าป่าจึงควรมีร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วยถ้ามือเจ็บจะหยิบของลำบาก ถ้าคอเจ็บจะกินลำบาก ถ้าเท้าเจ็บจะเดินลำบาก ส่วนสำคัญที่สุด คือ เท้าและหัวเข่าเพราะว่าต้องใช้งานไม่หยุด ไม่ว่าจะเดินช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้นก่อนออกเดินทาง ควรตรวจสอบว่าเท้าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่มีแผล หรือเจ็บเท้าและเมื่อใส่ถุงเท้า กับรองเท้ารวมทั้งถุงกันทาก ครบเหมือนกับเวลาเดินป่าแล้ว นิ้วเท้าไม่เกยทับกันและไม่มีจุดเสียดสีให้รู้สึกเจ็บเลย ทดลองไถลไปข้างหน้าเหมือนเวลาลงเขาเล็บเท้าจะต้องไม่ชนกับหัวรองเท้า ถ้าเจ็บเท้า แม้เพียงเล็กน้อย เวลาเดินไปเรื่อยๆ จุดที่มีปัญหาจะยิ่งถูกกดทับ เสียดสี ทำให้เจ็บหนักขึ้น อาจเดินได้ไม่เต็มเท้า หรือเดินช้าจนกลายเป็นภาระ นอกจากนี้ เล็บนิ้วมือควรตัดให้สั้น ถ้าเล็บยาว เวลารื้อของในเป้มีโอกาสเล็บหัก พอเล็บหักแล้วอาจทำให้หนังฉีก เจ็บนิ้ว ทำอะไรก็ลำบาก แต่ไม่ควรตัดสั้นเกินไปเพราะอาจต้องใช้เล็บเพื่อทำอย่างอื่นด้วย เช่น ฉีกของ เล็บเท้าก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่านิ้วเท้าจะไม่ชนกับหัวรองเท้า ก็ควรจะตัดให้สั้น เผื่อเวลาที่ใส่รองเท้าแตะเล็บมีโอกาสโดนเกี่ยวหักได้ สำหรับเวลาเข้าป่าควรจะพกกระติกน้ำไปด้วยเสมอ ก่อนเดินมักไม่หิวน้ำ จึงไม่เห็นความจำเป็นของกระติกน้ำ แต่พอเดินไปสักพักก็จะเริ่มหิวน้ำ ต้องกินน้ำลิตรกว่าๆ จึงจะหายหิวได้บ้างถึงแม้ว่าข้างหน้าจะมีร้านขายของก็ต้องเตรียมน้ำติดตัวไปบ้างเพราะอาจจะไปหิวน้ำกลางทาง ต้องจิบน้ำไปตลอดทางก่อนที่จะเจอร้านขายน้ำ กระติกน้ำมี 2 แบบ คือ แบบขวดและถุงน้ำ
ที่พัก
เรื่องแรกที่ควรจะคิดก่อนออกเดินทางคือคืนนี้จะนอนที่ไหนและตรงนั้นนอนหลับได้หรือไม่คนเมืองมักจะเคยชินกับการนอนดึกและมักจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องที่พักกัน พอมืดค่ำจะได้ที่พักที่ไม่เหมาะสม ใกล้ทางด่านสัตว์ หรือ ไม่มีน้ำเพียงพอ อยู่ในดงทากหรือดงเห็บ ถ้าโดนกัดตอนนอน จะโดนเยอะกว่าตอนเดินเพราะเวลาอยู่เฉยๆแล้วพวกมันจะเดินมาหาได้ง่าย มืดแล้วจะทำอะไรก็ติดๆขัดๆ การเดินในป่าต้องพึ่งแสงอาทิตย์เป็นหลักแสงจากไฟฉายยังน้อยเกินกว่าที่จะเดินในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นกฎของการเดินทางในป่าคือ หาที่พักที่เหมาะสมให้ได้ก่อนมืดค่ำ ไม่ว่าจะลุยสักแค่ไหนก็ตามควรถึงจุดหมายก่อนบ่าย 3 โมงครึ่ง เพราะหลังจาก 3 โมงครึ่งไปแล้วป่าจะเริ่มมืด ช่วงบ่าย 3 โมงเย็น-8โมงเช้า เป็นเวลาที่สัตว์ป่าออกหากิน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนในตอนกลางวัน ซึ่งจะทำให้มันหิวน้ำง่าย แสงแดดหลังบ่าย 3 โมงเย็น จะเริ่มหลอกตาทำให้หลงทางได้ง่าย ถ้ามองไปทางที่แสงแดดส่องมา แสงจะส่องเข้าตาทำให้ตาพร่ามองไม่เห็นทาง ถ้ามองไปทิศอื่นแสงแดดจะส่องทะลุใบไม้หรือสะท้อนกับใบไม้ ตัดกับป่ารอบข้างที่เริ่มมืดทำให้เกิด contrast สูงทำให้มองเห็นทางไม่ชัด บริเวณที่แสงตกกระทบจะสว่างผิดปกติ จนดูเหมือนกับจะมีทาง แต่เมื่อเดินเข้าไปดูกลับไม่ใช่ แม้แต่ทากก็ชุกชุมในตอนกลางคืน มากกว่าตอนกลางวันถ้าหลัง 6 โมงเย็นจะเริ่มมองไม่เห็นทาง หากหลงทางก่อนบ่าย 3 โมง เรายังมีเวลาคลำทางหาที่พักอีก 3-4 ชั่วโมง หรือถ้าที่พักไม่เหมาะสม เรายังมีเวลาเหลือพอที่จะย้ายได้อีก ยกเว้นถ้ามีที่พักอยู่แล้วและชำนาญทาง อาจจะกลับช้ากว่าบ่าย 3 โมงครึ่งได้แต่อย่างน้อยประมาณบ่าย 3 โมงเย็น ก็ควรหมดเวลาสำรวจ และกลับเข้าทางที่รู้จักได้แล้วแต่ไม่ควรจะเดินในป่าเกิน 5 โมงเย็น เพราะมีโอกาสเจอสัตว์ป่าสูงมาก การหาที่พักช่วงใกล้ค่ำอาจได้ที่พักแบบมัดมือชก ถ้าต้องเดินทางไกลควรตื่นแต่เช้ามืด แล้วรีบออกเดินทางตั้งแต่เช้าดีกว่าที่จะเดินทางจนมืดค่ำ
อาหารการกินตอนเดินป่า
เวลาเดินป่าต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจึงต้องการคาร์โบไฮเดรตมากแต่เวลาอยู่ป่า เรามักจะไม่สามารถกินคาร์โบไฮเดรตได้มากเท่ากับพลังงานที่ใช้ไป วิธีช่วยให้แบกคาร์โบไฮเดรตน้อยลงได้บ้าง คือตุนคาร์โบไฮเดรตไว้ในร่างกาย ธรรมชาติของร่างกายคนคือเวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยากก็ตาม ส่วนเกินจากที่ร่างกายนำไปใช้จะสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ ในรูปของไกลโคเจน(glycogen) เพื่อเวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ร่างกายจะปล่อยไกลโคเจนออกมาใช้ในรูปของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ไกลโคเจนจึงมีน้ำหนักเท่ากับน้ำตาลกลูโคส แต่การตรวจหาไกลโคเจนที่สะสมในร่างกายทำยาก การควบคุมไกลโคเจน จึงใช้วิธีประมาณโดยไม่ต้องตรวจ โดยลดคาร์โบไฮเดรตลงวันละเล็กน้อย บวกกับจำกัดอาหารพวกไขมัน ช่วงที่ไกลโคเจนลดลงนี้ น้ำหนักตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว รอให้น้ำหนักตัวลดลงเกิน 2-3 กิโลกรัม จึงจะพอมั่นใจได้ว่าไกลโคเจนที่สะสมไว้หมด พอไกลโคเจนหมดแล้ว น้ำหนักตัวจะเริ่มคงที่ เพราะร่างกายจะนำไขมันมาเผาผลาญต่อทำให้น้ำหนักตัวลดลงช้ามาก โดยมีข้อควรระวังในการวัดน้ำหนัก คือ ดื่มน้ำให้เพียงพอ มิฉะนั้นน้ำหนักตัวที่ลดลงไปอาจเป็นน้ำหนักน้ำก็ได้ หลังจากใช้ไกลโคเจนหมดแล้วจึงเริ่มกินคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นร่างกายแต่ละคนสะสมไกลโคเจนได้แตกต่างกัน จึงต้องทดลองด้วยตนเอง คนที่มีกล้ามเนื้อมาก ร่างกายจะสะสมไกลโคเจนได้มาก ช่วงที่สะสมไกลโคเจน น้ำหนักตัวจะขึ้นเร็ว เพราะ การสะสมไกลโคเจนจะสะสมน้ำอีก 3 เท่าของน้ำหนักของมัน เช่น ถ้าสะสมไกลโคเจนไว้ 1 กิโลกรัม ร่างกายจะสะสมน้ำอีก 3 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม เมื่อไกลโคเจนสะสมเต็มแล้ว คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินที่กินเข้าไป จะสะสมในรูปของ triglyceride ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่ง การเก็บไกลโคเจน จึงไม่ควรเก็บจนเต็มขอบเขตที่ร่างกายสะสมได้ ควรเผื่อไว้สำหรับอาหารมื้อต่อไป เพราะทุกมื้อที่เรากินเข้าไป คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะเข้าไปในเซลเพ่อใช้เป็นพลังงานส่วนเกินจะไปสะสมเป็นไกลโคเจนไว้ใช้ในช่วงเวลาต่อไปของวัน