ใส่ใจสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการวิ่งที่ได้ประสิทธิภาพ
การวิ่งที่ดีต้องรู้จักการวิ่งของตัวเอง
การออกกำลังกายทุกชนิดล้วนมีประโยชน์ เช่นเดียวกันกับการวิ่ง ซึ่งความรู้เรื่องการวิ่งปัจจุบันสามารถหาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต แต่ทักษะการวิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน โดยเฉพาะเมื่อเราก้าวสู่การวิ่งเพื่อแข่งขันการฝึกฝน และเข้าใจจังหวะการวิ่งที่เหมาะสมกับตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อ
การวิ่งที่ได้ประสิทธิภาพ
องค์ประกอบสำคัญของการวิ่ง
1.อัตราการเร่ง (Acceleration)
2.ความเร็วสูงสุด (Maximum Speed / Absolute Speed)
3.ความเร็วอดทน (Speed Endurance)
4.ท่าทาง และเทคนิคการวิ่ง (Running Form and technique)

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ผู้คนที่ชอบวิ่งและหันมาวิ่งอย่างจริงจังเพื่อการแข่งขัน ส่วนใหญ่ก็อยากจะวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อทำสถิติเวลาของตนเองให้ดีที่สุด ซึ่งหัวใจสำคัญของการวิ่งให้เร็วได้แก่ ระยะทางและเวลา นักวิ่งที่ดีควรกำหนดเป้าหมายของตนทั้งระยะทางและเวลา เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว ต้องกำหนดวิธีการวิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองด้วย เช่น หากเป็นคนที่วิ่งเร็ว ก็ควรปรับการแกว่งแขนให้สอดคล้องกับความเร็วของตน ท่าทางการวิ่งที่เหมาะสมจะทำให้การวิ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและยังสามารถประคับประคองรักษาระดับความเร็วให้คงที่ได้ตลอดระยะทางการแข่งขัน สำหรับท่าวิ่งที่ถูกต้องควรวางแขนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ศอกทำมุมประมาณ 90 องศา เวลาวิ่งแขนแต่ละข้างจะต้องแกว่งสลับหน้า-หลังไปพร้อม ๆ กับขาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่กำมือแน่นปล่อยมือให้อยู่ในท่าที่สบาย

นอกจากนี้การเพิ่มความเร็วในการวิ่งต้องเพิ่มจำนวนความยาวของช่วงก้าว (Stride length) ร่วมกับการฝึกเพิ่มอัตราความเร็ว หรือความถี่ในการก้าวเท้าให้เร็วขึ้น (Stride Frequency) ความเร็วในการวิ่งจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การฝึกความเร็วจะได้ผลดียิ่งขึ้น หากมีการฝึกเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อด้วยก็จะยิ่งเสริมสร้างให้การวิ่งบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อีกทั้งยังแนะนำอีกว่า Running Drills หรือเรียกว่า การฝึกท่าวิ่ง เป็นอีกเทคนิคที่สามารถปลูกฝังท่าวิ่งที่ดีและถูกต้องให้กับนักวิ่งได้ ซึ่งตัวอย่างการฝึกสามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือการจัดตารางการฝึกซ้อม โดยควรฝึกซ้อมหนักสลับเบา และปานกลาง โดยเทคนิคของการจัดตารางขึ้นอยู่กับแต่ละคนไม่มีสูตรที่ตายตัว ในการจัดตารางฝึก ถ้าช่วงแรกที่ต้องเสริมฐานมากๆ ก็อาจฝึกสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งหรือวันเว้นวันก็ได้
ข้อควรตระหนักเวลาวิ่ง
1. การรู้จักประมาณตนเอง (Moderation)
2. ความสม่ำเสมอในการฝึกซ้อม (Consistency)
3. การพักผ่อน (Rest)
ประโยชน์ของการวิ่ง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาเปิดเผยผลวิจัยศึกษาสมองของกลุ่มคนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำว่ามีการเชื่อมต่อระบบสมองที่ดีกว่าคนธรรมดาที่ไม่ออกกำลังกายเลย คล้ายกับการวิจัยเกี่ยวกับนักดนตรีซึ่งก็มีพัฒนาการเชื่อมต่อทางสมองดีกว่าคนที่ไม่เล่นดนตรีเช่นกันประโยชน์ของการมีระบบเชื่อมต่อในสมองที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ในยามก้าวเข้าสู่วัยชราและยังช่วยยืดอายุการใช้งานของสมองในด้านการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจได้นานยิ่งขึ้นอีก โดยปกติเมื่อเราแก่เฒ่า สมองส่วนหน้า (Frontal Cortex) จะสูญเสียการเชื่อมต่อกับสมองส่วนอื่นๆ อันเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความจำสั้น แต่การวิ่งจะช่วยทำให้รอยต่อสมองส่วนหน้ากับส่วนอื่นๆนั้นกระชับได้นานกว่าปกติ นักวิจัยใช้วิธีเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มได้แก่กลุ่มนักวิ่งข้ามทุ่งครอสคันทรี่และกลุ่มที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยนานกว่า 1 ปี กลุ่มละ 11 คน รวมทั้งหมด 22 คน ซึ่งทุกคนล้วนมีอายุไล่เลี่ยกันประมาณ 18 ถึง 25 ปี มีดัชนีมวลกาย (ตัวชี้วัดความสมส่วนของร่างกายจากน้ำหนัก-ส่วนสูง) เท่าๆกันและมีพื้นเพการศึกษาที่อยู่ในระดับเดียวกันอีกด้วย

ผลการสแกนสมองพบว่าการเชื่อมต่อระบบการทำงานของสมองในสมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับทักษะการวางแผน การตัดสินใจ และการทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) ของกลุ่มนักวิ่งมีพัฒนาการเหนือกว่ากลุ่มที่ไม่นิยมออกกำลังกายในหลายๆจุด ซึ่งก่อนหน้านี้มีการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเชื่อมต่อระบบสมองและกิจกรรมที่ต้องใช้การฝึกกล้ามเนื้อ (Motor Control) เช่นการฝึกใช้กล้ามเนื้อเล่นเครื่องดนตรีให้ผลลัพธ์ออกมาแบบเดียวกัน ทีมวิจัยจึงอนุมานว่าการวิ่งออกกำลังกายมีผลต่อสมองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าการวิ่งจะเป็นเพียงการออกแรงกล้ามเนื้อเฉยๆโดยไม่ต้องคิดเยอะเท่าการเล่นดนตรีก็ตาม ทว่าทีมวิจัยกล่าวว่าผลการศึกษาครั้งนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบว่าการวิ่งสร้างปฏิกิริยาอย่างไรกับสมองบ้าง ต้องศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป
อาการเสี่ยงบาดเจ็บจากการวิ่ง
จากการศึกษาวิจัยพบว่า การวิ่งในระยะทางมากกว่า 64 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติเคยได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งมาก่อนแล้วนับเป็นปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการบาดเจ็บในอนาคตได้ การบาดเจ็บที่พบบ่อยมักเกิดขึ้นกับหัวเข่า ขาส่วนล่าง เท้า และขาส่วนบน ตามลำดับ ส่วนความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่พบได้น้อย ได้แก่ ข้อเท้าและสะโพก หรือเชิงกรานอย่างไรก็ตาม การวิ่งอย่างถูกวิธีหรือมีเทคนิคที่ดีในการวิ่ง รวมไปถึงการอบอุ่นร่างกายก่อนการวิ่งทุกครั้งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหืด หรือปวดหลังหรือข้อต่อ การวิ่งและการออกกำลังกายจะมีประโยชน์ต่อโรคดังกล่าว แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเกี่ยวกับความปลอดภัย