รู้ เทคนิคเดินป่า มีชัยและปลอดภัย เซฟไว้ก่อนเพื่ออรรถรสที่สมบุกสมบัน
Categories:
บทความน่ารู้, รวมบทความ
รู้เทคนิคเดินป่า มีชัยและปลอดภัย เซฟไว้ก่อนเพื่ออรรถรสที่สมบุกสมบัน
การเดินป่า เป็นวิธีการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่มีเสน่ห์ให้เราได้สัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ แต่การท่องเที่ยวแบบเดินป่านี้ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ การเดินป่านั้นต้องใช้กำลังสองขาพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางเพื่อสัมผัสความงดงามทางธรรมชาติ ส่วนมากจะมีระยะทางไกลและสมบุกสมบันพอสมควร ซึ่ง เทคนิคเดินป่า เบื้องต้นคือต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่เราจะไปให้ดี เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และเตรียมตัวไปให้พร้อมทั้งร่างกายและสัมภาระ ที่สำคัญการไปเดินป่าคือการทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติไม่ควรไปทำลายป่าไม้ใบหญ้าหรือทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ เก็บมาเพียงความทรงและภาพถ่ายก็พอแล้ว
สาระเรื่องการเดินป่าในลักษณะต่างๆ
• การเดินป่าที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นสันเขา การเดินบนสันเขาเป็นเส้นทางที่ง่ายและเหนื่อยน้อยที่สุดในบรรดาเส้นทางอื่น ๆ เพราะสันเขาจะไม่ค่อยมีต้นไม้หรืออุปสรรคกีดขวางมากนัก บรรดาสัตว์ต่าง ๆ มักใช้เส้นทางสันเขาในการเดินทางทำให้เราเดินตามได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถมองดูภูมิประเทศด้านล่างได้อีกด้วย การเดินบนสันเขามีปัญหาเดียวคือเมื่อเป็นเส้นทางที่สะดวกก็มักจะมีผู้ใช้บ่อยทั้งสัตว์และคนทำให้เกิดเส้นทางขึ้นหลายเส้นทางทำให้เราสับสนและหลงทางได้ ดังนั้นควรมีการตรวจสอบความถูกต้องด้วยเข็มทิศอย่างสม่ำเสมอ • การเดินป่าที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นลำห้วย ลำห้วย เป็นเส้นทางการเดินที่ยากพอสมควร เพราะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจะทำให้มีพันธุ์พืชต่าง ๆ ขึ้นรกเต็มไปหมด มีดินโคลนและตะไคร่น้ำเกาะอยู่ตามโขดหินทำให้ลื่นได้ง่าย นอกจากนั้นยังจะมีบรรดาสัตว์ต่าง ๆ ที่ชอบอาศัยอยู่ที่มีความชื้นเช่นนี้ เช่น ทาก ปลิง งูบางชนิด เป็นต้น เพราะฉะนั้นต้องคอยระแวดระวัง หูตาต้องไว มีเสื้อผ้าและรองเท้าที่ป้องกันการโจมตีของสัตว์เหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่าลำห้วยจะเป็นทางที่ลำบากและทำให้เดินทางได้ช้า แต่ก็มีข้อดีคือนำน้ำขึ้นมาทั้งดื่มทั้งใช้ได้ และความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำจะเป็นแหล่งอาหาร เช่น ปลาในน้ำ ผลไม้จากพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นต้น • การเดินป่าที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าทึบ เป็นการเดินป่าที่ยากที่สุดและต้องอาศัยประสาทสัมผัสทุกส่วนในร่างกายที่ฉับไว ป่าทึบนั้นจะเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิดและสัตว์ป่าจะมีประสาทสัมผัสที่ว่องไวกว่าคนหลายเท่าตัว เมื่อได้ยินเสียงอาจเกิดความตกใจหนีเตลิดไปหรือไม่ก็เข้าจู่โจมเราได้ ดังนั้นต้องใช้เสียงให้น้อยที่สุด ที่สำคัญหากไม่เคยไปหรือไม่ชำนาญเส้นทางควรมีผู้นำทางจะปลอดภัยที่สุด การเดินป่าทึบจะมีต้นไม้รกคอยกีดขวางเส้นทางเดินอยู่เสมอ หากจำเป็นจริงก็สามารถใช้มีดออกมาตัดกิ่งไม้เหล่านั้นเพื่อให้เดินผ่านไปได้วิธีตัดคือฟันเฉียงลงหรือขึ้นให้เร็วที่สุดเพราะจะเกิดเสียงน้อยกว่าฟันช้าๆ นอกจากเทคนิควิธีการเบื้องต้นแล้ว การเดินป่าทุกที่ต้องพยายามเดินให้ออกกำลังมีความช่างสังเกต ไม่ทำเสียงดัง ซึ่งการเดินทางในป่าทึบนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุด และนักเดินป่าที่ดีนั้นย่อมเป็นผู้ที่รู้จักใช้เสียงในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ในการเดินป่า เราจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น หู ตา จมูก และสัมผัสที่เราต้องใช้ให้น้อยที่สุดคือ เสียงที่จะต้องใช้ในตอนหยุดพัก ในแต่ละชั่วโมงหรือเมื่อมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้นนักเดินป่าที่ดีจึงต้องฝึกตนเองให้มีความสามารถเดินผ่านป่ารกทึบอย่างเงียบ ๆ ได้อยู่เสมอ โดยจะค่อย ๆ แหวกต้นไม้ไป ซึ่งอาจจะมีโอกาสได้พบเห็นสัตว์ป่าได้อีกด้วย ต้องระวังอย่าให้กิ่งไม้ครูดเป็นแผลหรือถลอกฟกช้ำ และระวังอย่าเดินหลงทางจะทำให้เสียกำลังใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องจดจำเอาไว้ อย่าใสใจกับต้นไม้ พุ่มไม้ที่อยู่ตรงหน้าเรามากนัก ให้ใช้สายตามองออกไปไกล ๆ อย่าสักแต่ว่ามองดูป่า จงมองให้ทะลุปรุโปร่ง ควรจะหยุดเดินบ้างเป็นครั้งคราว สำรวจดูตามพื้นดิน คอยเงี่ยหูฟังเสียงต่าง ๆ และสังเกตทิศทางเอาไว้ให้ดี ๆ ในพื้นที่ ๆ มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ควรใช้มีดตัดป่าตัดเป็นช่องพอที่จะเดินผ่านไปได้เท่านั้น การตัดไม้ด้วยมีดควรใช้มีดฟันเฉียงขึ้นหรือเฉียงลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดเสียงเบากว่าการฟันอย่างช้า ๆ เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายพันธุ์แล้วยังก่อให้เกิดเสียงดังได้ยินไปก้องป่า สัตว์ป่ามักจะใช้เส้นทางด่านสัตวืในการเดิน ทางด่านสัตว์นี้มักคดเคี้ยว วกวน แต่ก็จะนำเราไปสู่แหล่งน้ำหรือที่โล่งได้ ถ้าเราจะเดินตามต้องตรวสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นทิศทางเดียวกับที่เราต้องการไป โดยหมั่นตรวจสอบทิศทางอยู่เสมอเมื่อเดินไปตามทิศทางนั้นเมื่อจำเป็นที่จะต้องปีนต้นไม้เพื่อสังเกตการณ์หรือเก็บอาหารต้องลองตรวจสอบดูเสียก่อนว่ากิ่งไม้ที่จะปีนขึ้นไปนั้นมีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวของเราได้รึเปล่าและจะต้องยึดกิ่งที่ใหญ่ไว้ให้แน่นและมั่นคง ในขณะปีนพยายามเหยียบกิ่งให้ชิดกับลำต้น เพราะจะเป็นส่วนที่แข็งแรงมากที่สุด
การหาแหล่งน้ำในป่า
1. สอบถามชาวบ้านถึงแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการสะดวกควรให้ชาวบ้านที่รู้ว่ามีแหล่งน้ำที่ใดนำทางหรือชี้บอกทางให้ 2. หาตามหุบเขา,ซอกหิน หน้าแล้งจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้บนภูเขาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งกรอบ ให้เราสังเกตที่หุบเขาถ้าพบว่าหุบเขาใดมีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี ซึ่งจะมีน้ำไหลซึมออกจากซอกหินตลอดปี 3. ขุดเลาะลำธารที่น้ำแห้งใหม่ ๆ ทำเป็นบ่อเล็ก ๆ ลึกลงไป ก็จะพบเจอน้ำตามที่เราต้องการ 4. หาจากเถาวัลย์ ผลไม้ ต้นไม้ เถาวัลย์น้ำจะขึ้นอยู่ตามพื้นที่แห้งแล้งเป็นส่วนมาก เช่น สะแกเถาว์, เถานางนูน,หวาย และต้นไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นพลวง ,ต้นกล้วยป่า,รวมทั้งน้ำจากผลไม้และ ต้นไผ่ก็ใช้ดื่มได้ทั้งนั้น 5. ใช้อุปกรณ์ที่นำติดตัวไปทำเครื่องกักไอน้ำ เช่น เสื้อกันฝนหรือพลาสติกก็ได้ โดยเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่แห้งแล้งและเป็นพื้นที่โล่งแจ้งปราศจากต้นไม้ ให้ขุดหลุมกว้าง 3 ฟุต ลึกประมาณ 18 นิ้ว เอาก้อนหินใส่ลงไปก้นหลุม หาภาชนะรองน้ำไว้ตรงกลางหลุม เอาพลาสติกคลุมปากหลุมแล้วเอาดินกลบไว้รอบ ๆ ตรงกลางเอาก้อนหินวางไว้เพื่อถ่วงให้เป็นรูปกรวย เมื่อความร้อนจากดวงอาทิตย์ เผาก้อนหินและดินในหลุม ความชื้นที่มีอยู่จะระเหยเป็นไอขึ้นมากระทบกับพลาสติกมากเข้าก็จะกลายเป็นหยดน้ำไหลไปยังภาชนะที่เราเตรียมไว้รองรับเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้บริโภคต่อไป