รู้ลิมิตการวิ่งของตัวเอง เพื่อถนอมร่างกายให้ห่างจากโรค
Sportlifeonline ร่วมห่วงใยสุขภาพของคุณ
ในจำนวนผู้ที่ชื่นชอบการวิ่งนั้น บางคนมีโรคประจำตัวที่ทางแพทย์ต้องห้ามออกกำลังกายอยู่แล้ว หรือมีความผิดปรกติอยู่เดิมของระบบโครงร่างรวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมากๆ การวิ่งครั้งแรกแม้ใช้เวลาไม่นานหรือระยะทางไม่มากก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนในผู้ที่วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว สภาพร่างกายอาจไม่เหมาะกับการวิ่งในวันหนึ่งวันใดก็ได้ เช่น การเป็นไข้ ท้องเสีย นอนไม่หลับ หรือเกิดการบาดเจ็บจากการวิ่งในวันก่อน การฝืนวิ่งเป็นโอกาสให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะการวิ่งด้วยความเร็วที่มากเกินไปอาจทำอันตรายร้ายแรงต่อระบบการไหลเวียนเลือดอย่างเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในผู้ที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป การใช้ความเร็วในการวิ่งที่เหมาะสมแต่นานมากหรือบ่อยเกินเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ และกระดูก รวมทั้งการสูญเสียพลังงานของร่างกาย การฝืนปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสัญญาณอันตรายเป็นเหตุสำคัญของอันตรายร้ายแรง ดังนั้น ควร
รู้ลิมิตการวิ่งของตัวเอง
สาระเรื่องการวิ่ง การเพิ่มปริมาณความเร็วในการวิ่ง
ที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มความความเร็ว การเพิ่มความหนักเร็วเกินไปร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน จะเป็นอันตรายได้ทั้งระบบการไหลเวียนเลือดและระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย การเพิ่มความนาน ความบ่อย มีอันตรายต่อระบบทั้งสองค่อนข้างน้อยกว่า แต่มีอันตรายมากกว่าด้านการสูญเสียพลังงานและการชดเชยพลังงานที่เสียไป

ท่าวิ่ง : การวิ่งอย่างฝืนธรรมชาติ เช่น พยายามก้าวเท้าให้ยาว หรือพยายามวิ่งตามท่าทางของคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของตน มักทำให้เกิดความเครียดต่อกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ และกระดูกมากจนอาจเกิดอันตรายที่แก้ไขได้ยาก
อุปกรณ์ : รองเท้าวิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดการบาดเจ็บต่อเท้าและ ข้อเท้า เช่น หนังพอง เล็บขบ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ และเป็นสาเหตุประกอบของการบาดเจ็บในส่วนที่เหนือขึ้นไป เช่น สันหน้าแข็ง เข่า ต้นขา ข้อสะโพก ไปจนถึงกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง เสื้อ กางเกง มีความสำคัญมากในแง่ของความคล่องตัว การระบายความร้อน การเสียดสีต่อผิดกายหากใช้ไม่เหมาะสมย่อมทำให้เกิดอันตรายได้
เวลาและภูมิอากาศ : เวลาที่ไม่เหมาะสมคือ หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือหลังจากการใช้แรงกายอย่างอื่นมากมาก่อน เวลาสัมพันธ์กับภูมิอากาศด้วย โดยเฉพาะอุณหภูมิ การวิ่งในขณะอากาศร้อนจัดหรือเมื่อฝนตกอาจเป็นอันตรายได้ง่าย
สถานที่ : พื้นทางวิ่งที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ เป็นสาเหตุสำคัญยิ่งของการบาดเจ็บต่อฝ่าเท้า ข้อเท้า น่อง หน้าแข้ง เรื่อยไปจนถึงหลังและคอ การวิ่งวนโดยเลี้ยวด้านใดด้านหนึ่งตลอดทำให้เกิดความเครียดบริเวณสะโพก การวิ่งขึ้นที่ชันมากๆทำให้ปวดเข่าได้ง่าย มลภาวะนอกจากเป็นอันตรายต่อการหายใจและการไหลเวียนเลือดแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อจิตใจด้วย
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
การออกกำลังกายมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้หลอดเลือดมีการขยายตัว กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสมและเพื่อความปลอดภัย
เทคนิคในการออกกำลังสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ
ผู้เป็นโรคหัวใจที่เริ่มต้นออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย โรคแทรกซ้อน การเฝ้าติดตามการเต้นของหัวใจ รวมถึงการแนะนำให้เรียนรู้อาการหรือสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ในขณะออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย ซึ่งหลังจากการเฝ้าติดตามแล้วหากไม่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นแพทย์จะอนุญาตให้ออกกำลังกายที่บ้านได้แต่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อประเมินผลจากการออกกำลังกาย
• แนะนำให้ใช้เวลาในการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายครั้งละ 10-15 นาที
• ความถี่ในการออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 8 ครั้ง
• ความหนักของการออกกำลังกายให้พิจารณาเป็นรายบุคคล เพราะสภาพโรคหัวใจที่ต่างกันย่อมมีความรุนแรงต่างกัน ในการกำหนดความแรงของการออกกำลังกายแพทย์จะเป็นผู้กำหนดโดยมีการทดสอบทั้งก่อนออกกำลังกาย ขณะออกกำลังกาย หรือภายหลังการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยโดยความแรงของการออกกำลัยกายเริ่มตั้งแต่ร้อยละ 50-80 ของอัตราการเต้นหัวใจเป้าหมาย
• ระยะเวลาในการออกกำลังกายประมาณครั้งละ 20-30 นาที
ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจที่ต้องการออกกำลังกาย
• ไม่ควรออกกำลังกายในขณะท้องว่าง แต่ก่อนออกกำลังกายควรเว้นระยะหลังจากการรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง
• ควรออกกำลังกายในร่มหากเวลาดังกล่าวมีสภาพอากาศร้อน หรือหนาวจัด
• อย่ากลั้นหายใจในขณะออกกำลังกาย ในระหว่างออกกำลังกายพยายามหายใจให้ปกติ ควรสังเกตการหายใจไม่ให้ติดขัด และสามารถพูดคุยได้โดยไม่เหนื่อยหอบ
• ควรอบอุ่นร่างกายและมีการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง
• สถานที่ในการออกกำลังกายควรมีเครื่องมือและเจ้าหน้าที่พร้อมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
• ในการออกกำลังกายควรใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาเกินไป
• ควรออกกำลังกายในเวลาเดียวกันทุกวัน
• อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ก่อนการออกกำลังกายควรดื่มน้ำประมาณ 1 แก้ว
• การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องออกแรงมากเกินไป แต่ควรเน้นที่ระยะเวลาในการออกกำลังที่เหมาะสม
• ไม่ออกกำลังกายหากรู้สึกไม่สบาย
• ไม่ควรออกกำลังกายหรือหยุดออกกำลังกายทันทีเมื่อมีอาการดังนี้ คือ เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยผิดปกติ